2 บิ๊กเตือนอันตราย "เหล็ก ZAM" เลี่ยงเอดี ทุบกำลังผลิตไทย -ผู้บริโภคเสี่ยง

20 กรกฎาคม 2567
2 บิ๊กเตือนอันตราย "เหล็ก ZAM" เลี่ยงเอดี ทุบกำลังผลิตไทย -ผู้บริโภคเสี่ยง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยทั้งระบบเดือดร้อนกันเป็นแถว นอกจากต้องต่อสู้กับการทุ่มตลาดเหล็กราคาถูกจากจีนแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นเรียกว่าเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

ทั้งนี้แม้ไทยจะประกาศบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)กับเหล็กบางประเภทไปแล้ว แต่ผู้นำเข้ายังดิ้นหาช่องนำเข้าเหล็กอีกประเภทที่เป็นการหลบเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การนำเข้า (Anti Circumvention : AC) สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มผู้ผลิตเหล็กชนิดอื่นๆ ตามมาอีกเป็นหางว่าว

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร ฟังจากปากตัวแทนผู้ประกอบการ นายนิพัทธ์ สิทธิเสถียรชัย นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือและ นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด

ผงะแห่นำเข้าเหล็ก ZAM

นายนิพัทธ์ สิทธิเสถียรชัย นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือ กล่าวว่า สภาพการแข่งขันในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเนื่องจากหลังการประกาศบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) จะพบว่าตัวเลขการนำเข้าเหล็กเคลือบประเภท GI มีตัวเลขลดลงอย่างมีนัย ขณะเดียวกันตัวเลขการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีผสมอลูมิเนียมและแมกนีเซียมแบบจุ่มร้อน (ZAM) กลับมีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นมาใช้ทดแทน ซึ่งเป็นการหลบเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การนำเข้า หรือ AC

ทั้งนี้เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนเป็นเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือชนิดหนึ่ง และในกลุ่มของสมาคมฯ จะมีประเภทของโลหะเคลือบบนแผ่นเหล็กหลายประเภท เช่น เคลือบสังกะสีอลูมีเนียม (Aluzinc หรือ Galvalume) เคลือบสังกะสีอลูมีเนียมและแมกนีเซียม (ZAM) เป็นต้น

เตือนผู้บริโภคระวังอันตราย

ปัจจุบันไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนกับประเทศจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวมถึงสินค้านี้ยังมีมาตรฐานบังคับ มอก. 50 ซึ่งหลังจากที่ได้มีการประกาศบังคับใช้มาตรการ AD และ มอก. 50-2561 แล้ว ผู้นำเข้าได้มีการหลบเลี่ยงมาใช้สินค้าเหล็กเคลือบประเภท ZAM ทดแทนเพื่อเป็นการหลบเลี่ยงอากร AD และหลบเลี่ยง มอก.บังคับ เนื่องจาก มอก. 50-2561 มีการกำหนดคุณภาพชั้นเคลือบขั้นตํ่าที่ Z60 แต่สินค้าเหล็กเคลือบประเภท ZAM นั้นปัจจุบัน พบว่าในท้องตลาดมีสินค้าผิวเคลือบตํ่าเช่น K30-40 เข้ามาจำหน่ายและแปรรูปในประเทศไทย

ทั้งนี้เหล็กดังกล่าวส่งผลต่ออายุการใช้งานที่สั้นลงอย่างมาก จนส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานหรือผู้บริโภค อีกทั้งทางสมาคมยังพบว่าเหล็กเคลือบประเภท ZAM ที่มีการนำเข้ามานั้นอาจเข้าข่ายการหลบเลี่ยงมาตรการด้วยการแก้ไขดัดแปลงสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้เพียงเล็กน้อย โดยไม่มีผลต่อลักษณะหรือคุณสมบัติที่สำคัญของสินค้านั้น ไม่ว่าการแก้ไขดัดแปลงสินค้าดังกล่าวจะทำในประเทศที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้หรือในประเทศอื่น

“การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การนำเข้าดังกล่าว กระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศในแง่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การจ้างงานลดลง ผู้ผลิตบางรายต้องปิดตัวลง รวมถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภค เช่น สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานบังคับ (มอก.50) ซึ่งจะต้องมีความหนาชั้นเคลือบไม่ตํ่ากว่า 60 กรัมต่อตารางเมตร แต่สินค้าที่มีการนำเข้าพบว่ามีความหนาชั้นเคลือบอยู่ระหว่าง 20-40 กรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น ทำให้อายุการใช้งานสั้นลงอย่างมาก จากประมาณ 5 ปี เหลือเพียง 3-6 เดือนก่อนเกิดสนิม”

สำหรับเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือในประเทศไทยมีผู้ผลิตทั้งสิ้น 8 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1.6 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตตํ่ากว่า 50% และมีการนำเข้าประมาณ 1.3-1.4 ล้านตันต่อปี

ทุบกำลังผลิตเหล็กไทยเหลือ 28%

ด้าน นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการนำเข้าเหล็ก ZAM ที่มีปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเกิดความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งจากตอนแรกที่สินค้ากลุ่มนี้เข้ามาในประเทศไทยผู้ได้รับความเดือดร้อนคือผู้ผลิตเหล็กเคลือบสังกะสีและเหล็กเคลือบชนิดอื่น ๆ

แต่ปัจจุบันความเสียหายนี้ได้ลุกลามไปถึงกลุ่มผู้ผลิตเหล็กชนิดอื่นๆ ซึ่งตัวเลขการนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้า ZAM ที่ส่งออกมาจากประเทศจีน ส่งผลให้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศของไทยนั้นลดลงทุก ๆ ปีจนปัจจุบันผลิตต่ำกว่า 28% ของกำลังการผลิตในภาพรวม โดยเหล็ก ZAM นั้นปัจจุบันมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการนำไปแปรรูปเป็นเหล็กโครงสร้างรับน้ำหนัก เหล็กโครงสร้างผนังและหลังคา

จากข้อมูลการนำเข้าพบว่าเกรดเหล็ก ZAM ที่มีการนำเข้ามานั้นส่วนมากเกินกว่า 80% เป็นชั้นคุณภาพ SGMCC ซึ่งชั้นคุณภาพนี้เป็นชั้นคุณภาพทั่วไป มีค่า tensile ต่ำสุด 270 Mpa ซึ่งไม่ใช่ชั้นคุณภาพสำหรับเหล็กโครงสร้าง ซึ่งถ้าเทียบกับการไปใช้เป็นเหล็กโครงสร้างรับน้ำหนักซึ่งต้องมีค่า Tensile ไม่ต่ำกว่า 400 Mpa เมื่อเทียบกันแล้วเหล็ก ZAM ที่มีการนำเข้ามาค่อนข้างน่ากังวลในแง่ของความปลอดภัยในการใช้งาน และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องผู้บริโภคและอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศได้แก่

1.การยกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็ก ZAM ขึ้นเป็นมาตรฐานบังคับซึ่งปัจจุบันทาง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้มีการทำแล้วอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณายกร่างมาตรฐานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่ทางภาครัฐเห็นความสำคัญในการให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

2.เพื่อความเท่าเทียมในการแข่งขันนั้นจึงมองว่าจำเป็นต้องมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ได้มีการนำเข้ามาหลังจากที่มีการประกาศบังคับใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เพื่อความแข่งขันที่เป็นธรรม และเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กของไทย

“ความอยู่รอดของอุตสาหกรรมภายในประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการทางการค้าที่ปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศก็มีการใช้มาตรการตอบโต้การส่งออกสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศ Section 232 และ 301 ในการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าที่มีการเรียกเก็บอยู่แล้ว สำหรับสินค้าเหล็ก ZAM และสินค้าอื่น ๆ นำเข้าจากจีนในปี 2025 หรือการที่ประเทศเวียดนามได้มีการใช้ AD กับสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากที่สหรัฐอเมริกาหรือประเทศต่าง ๆ ได้มีการบังคับใช้กฏหมายแล้ว สินค้าเหล่านี้จากประเทศจีนจะส่งออกเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน”

นายกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า  มีการเก็บข้อมูลการนำเข้าสินค้าพิกัดหลัก ได้แก่ 7210.49, 7210.61, 7210.69, 7212.30, 7212.50, 7225.92, 7225.99, 7226.99 พบว่าหลังจากมีการประกาศบังคับใช้มาตรการ AD เหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) แล้ว มีผู้นำเข้าซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายเดียวกับผู้ที่นำเข้าเหล็ก GI ที่ถูกบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และจากข้อมูลที่ทางสมาคมฯ ได้มีการจัดเก็บมีมูลเหตุเพียงพอที่เชื่อถือได้ว่าอาจมีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน

ทางสมาคมฯ ได้มีการยื่นคำร้องขอเปิดการไต่สวนให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือ ไปยังกองบริหารการนำเข้าและถิ่นกำเนิด กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567  ส่วนด้านผู้บริโภคควรจะต้องระมัดระวังและทำการตรวจสอบสินค้าเหล็กโดยเฉพาะเหล็กแผ่นเคลือบโลหะว่าจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภคเอง

ปัจจุบันผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมเหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจือจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล็กสำหรับ กลุ่มฟาร์มปศุสัตว์ เช่น โครงสร้างโรงเรือน หลังคา กลุ่มก่อสร้าง เช่น ท่อทำความเย็น ประตูชัตเตอร์ โครงสร้างหลังคา โครงสร้างผนัง  ถนนและวิศวกรรมโยธา เช่น การ์ดเรล ผนังกันเสียง โครงสร้างราวสะพาน เป็นต้น ระบบขนส่งทางราง เช่น ท่อระบายอากาศในอุโมงค์ รางสายไฟ ราวกันตก พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.